HOME กูรูตอบให้ ! 15 คำถามเกี่ยวกับออนเซ็นและเซนโต ที่ชาวต่างชาตินิยมถามมากที่สุด
กูรูตอบให้ ! 15 คำถามเกี่ยวกับออนเซ็นและเซนโต ที่ชาวต่างชาตินิยมถามมากที่สุด

กูรูตอบให้ ! 15 คำถามเกี่ยวกับออนเซ็นและเซนโต ที่ชาวต่างชาตินิยมถามมากที่สุด

Last updated: 30 ม.ค. 2564

เมื่อพูดถึงหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นก็ต้องนึกถึงออนเซ็นและเซนโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ) ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีของชาวญี่ปุ่น แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้วกลับมีแต่คำถามเต็มไปหมด ! ดังนั้นครั้งนี้เราจึงได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโอฟุโระ (การอาบน้ำ) อาจารย์ยาสุอากิ โกโต ผู้มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์และเป็นนักวิจัยหลักของสถาบันพัฒนาสุขภาพญี่ปุ่น มาเป็นผู้ตอบคำถามให้ มีเนื้อหาน่าสนใจมากทั้งคำถามที่น่าสนใจไปจนถึงคำตอบที่แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ยังไม่เคยรู้มาก่อน !

Q1 วิธีการลงแช่น้ำที่ถูกต้องคือ ? ต้องอาบน้ำให้เสร็จก่อนค่อยลงแช่ ? หรือแค่เอาน้ำล้างตัวเฉย ๆ แล้วแช่เลย แล้วค่อยไปอาบน้ำอีกทีหลังจากแช่เสร็จได้ไหม ?

-โดยปกติแล้วลำดับในการลงแช่น้ำนั้นตามใจคนอาบเลย แต่เพื่อรักษาความสะอาดของน้ำร้อนในบ่อ การล้างตัวให้สะอาดก่อนลงแช่น้ำนั้นเป็นมารยาทที่ดี และการล้างตัวด้วยน้ำอุ่นก็เป็นการช่วยให้ร่างกายชินกับความร้อนด้วย เพราะฉะนั้นลำดับแรกควรราดน้ำอุ่นหรือล้างตัวคร่าว ๆ ด้วยฝักบัวก่อนจะดีกว่า และการอาบน้ำหลังแช่น้ำร้อนจะทำให้สิ่งสกปรกถูกชำระได้ง่ายขึ้น ดังนั้นลำดับที่สมเหตุสมผลที่สุดคือ "ล้างตัวคร่าวๆ -> แช่น้ำร้อน -> อาบน้ำชำระร่างกาย"

Q2 คนญี่ปุ่นดื่มเหล้าญี่ปุ่นไปด้วยขณะลงแช่น้ำร้อนจริงหรือ ?

-ออนเซ็นกับเหล้าญี่ปุ่นนั้นอาจเป็นของคู่กัน แต่เมื่อคิดถึงสุขภาพแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างแช่น้ำร้อนหรือก่อนลงแช่น้ำร้อนนั้นอันตรายมากจึงไม่แนะนำเลย แต่ว่าก็มีออนเซ็นที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นพวกเหล้าญี่ปุ่นและเบียร์อยู่ อย่าง "ไดอิจิ ทาคิโมโตะคัง" ที่โนโบริเบทสึออนเซ็นก็มีขายเหล้าญี่ปุ่นและเบียร์ ฯลฯ "โคอุนโซ" ที่ชิโอะบาระออนเซ็นก็สามารถดื่มเหล้าเพลินในขณะแช่เท้าได้ แล้วก็ยังมีพื้นที่แช่เท้าในอาคารจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นบาร์ของ "โออิตะออนเซ็นสะ" ที่เบปปุฮัตโตะด้วย ดังนั้นถ้าแค่แช่เท้าก็สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องกังวลมากนัก

Q3 ทำไมถึงมีหลายคนดื่มนมหลังจากอาบน้ำเสร็จ ?

-ยังไม่ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริง แต่เป็นความเชื่อต่อ ๆ กันมาว่าในช่วงยุคหลังสงครามซึ่งเป็นยุคที่ตู้เย็นยังไม่เป็นที่แพร่หลายในบ้านเรือนคนทั่วไป โรงอาบน้ำเซนโตได้นำตู้เย็นมาใช้เพื่อเสิร์ฟเครื่องดื่มเย็น จนได้ติดต่อผูกขาดการค้ากับบริษัทธุรกิจนมวัว และหลังจากแช่น้ำร้อนร่างกายจะสูญเสียน้ำเนื่องจากมีเหงื่อออกจึงจำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำชดเชย ในระยะหลังนี้ก็มีเครื่องดื่มเกลือแร่วางขายเพิ่มมากขึ้นด้วย

Q4 ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงมีวัฒนธรรมเซนโตและวัฒนธรรมออนเซ็น ?

-อันนี้ก็เป็นความเชื่อต่อ ๆ กันมาเช่นกัน ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับมากกว่า 100 ลูก และมีน้ำพุร้อนผุดขึ้นตามธรรมชาติมากที่สุดในโลก ดังนั้นจึงคาดว่าสภาพแวดล้อมที่คุ้นชินกับน้ำพุร้อนอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วัฒนธรรมออนเซ็นมาไกลถึงขนาดนี้ นอกจากนี้การมีทรัพยากรณ์น้ำที่อุดมสมบูรณ์จากเงื่อนไขทางภูมิประเทศและภูมิอากาศก็ส่งผลให้วัฒนธรรมเซนโตเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย เมื่อพูดถึงเซนโต ในปัจจุบันนี้อ่างอาบน้ำได้ถูกนำมาใช้ในครัวเรือนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป (เกินกว่า 95%) ทำให้เซนโตลดน้อยลงไปจากตอนสมัยยุคทองมาก แต่วัฒนธรรมที่ชื่นชอบห้องอาบน้ำใหญ่ ๆ โปร่งโล่งสบายก็ยังคงฝังรากลึกอยู่จนทุกวันนี้

Q5 ออนเซ็นและเซนโตต่างกันอย่างไร ?

-ตามคำนิยามของญี่ปุ่น ออนเซ็น คือ "น้ำที่มีอุณหภูมิเกิน 25 ℃ ขึ้นไป หรือน้ำที่มีสารประกอบแร่ธาตุเฉพาะผสมอยู่เกินกว่าระดับที่กำหนดขึ้นไป หรือน้ำที่มีสารประกอบแร่ธาตุอื่นโดยรวมมากกว่า 1,000 mg/kg ขึ้นไป" ส่วนเซนโตเป็นสถานที่สำหรับอาบน้ำที่เรียกว่าโรงอาบน้ำสาธารณะ เซนโตนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นออนเซ็นแต่ก็มีเซนโตที่เป็นออนเซ็นอยู่ด้วย อย่างเช่นเขต "โอตะ" ในโตเกียวก็มีเซนโตที่เป็นออนเซ็นเยอะมาก โดยปกติแล้วจะสามารถใช้บริการเซนโตได้ในราคามาตรฐานที่จังหวัดกำหนด (ที่โตเกียว ผู้ใหญ่ 470 เยน) สำหรับบริการหลัก ๆ นอกจากห้องอาบน้ำแล้วก็ยังมีพื้นที่ให้พักผ่อนเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีบริการเครื่องดื่มขายด้วย จึงเป็นสถานที่ที่คนในท้องถิ่นจะมาใช้บริการในชีวิตประจำเป็นส่วนมาก ส่วนซูเปอร์เซนโตนั้นราคาแพงกว่าเซนโตทั่วไป โดยมีอ่างอาบน้ำหลายฟังก์ชัน มีทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร บางแห่งมีบริการนวดและสปาด้วย จึงเป็นสถานที่สำหรับไปพักผ่อนกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง

Q6 น้ำออนเซ็นมีประโยชน์จริงหรือ ? แตกต่างกับน้ำธรรมดาหรือไม่ ? ดีต่อผิวไหม ?

-ที่ญี่ปุ่นมีน้ำพุร้อนบำบัดอยู่ 10 ชนิด น้ำพุร้อนบำบัดคือออนเซ็นที่มีคุณสมบัติช่วยในการบำบัดอาการบางชนิดโดยการแช่หรือดื่ม แต่กลับกันก็มีข้อห้ามสำหรับผู้มีอาการบางชนิดที่อาจได้รับผลเสียต่อร่างกายจากการลงแช่ด้วย ส่วนคุณสมบัติต่อผิวพรรณก็จะมีสรรพคุณในการเคลือบผิว (น้ำพุร้อนที่มีคลอไรด์, ซัลเฟต ฯลฯ) สรรพคุณในการชำระล้างสิ่งสกปรกและทำความสะอาดสิ่งตกค้าง (ออนเซ็นประเภทอัลคาไลน์) และยังมีออนเซ็นที่ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีและเติมออกซิเจนกับสารอาหารเข้าสู่ผิว (น้ำพุร้อนคาร์บอนไดออกไซด์) เป็นต้น ภาพต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบความอบอุ่นของร่างกายที่แช่ในน้ำพุร้อนคาร์บอนไดออกไซด์กับในน้ำประปาต้ม

น้ำพุร้อนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดหรือกำมะถันจะมีจุดเด่นคือสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ดีแต่ก็ระคายเคืองผิวมากเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่มีผิวบอบบางจึงควรล้างน้ำฝักบัวอีกครั้งหลังแช่น้ำด้วย นอกจากนี้ถึงจะเป็นออนเซ็นที่ดื่มได้แต่ก็ไม่ควรดื่มแบบไม่ลืมหูลืมตา การดื่มน้ำออนเซ็นนั้นควรดื่มโดยควบคุมปริมาณตามที่กำหนดว่าสามารถดื่มได้

Q7 ทำไมข้าง ๆ บ่อออนเซ็นถึงมีบ่อน้ำเย็นด้วย ? บ่อนี้มีไว้ทำอะไร ?

-คาดว่ามีคนใช้เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายที่อุ่นจนร้อนเกินไปอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยส่วนมากจะอยู่คู่เป็นเซ็ตกับซาวน่า การอาบน้ำร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำเย็น หรือการอาบน้ำร้อนสลับเย็นนั้นยังไม่อาจทราบถึงสรรพคุณหรือที่มาได้ แต่ว่ากันว่าสามารถช่วยเรื่องระบบประสาทอัตโนมัติและช่วยฟื้นฟูพละกำลังหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกายได้ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำเย็นเกินไปในทันที เนื่องจากจะเป็นภาระหนักต่อหัวใจ

Q8 วางผ้าขนหนูบนศีรษะได้จริงหรือ ? (ถ้าผ้าขนหนูหล่นลงไปในน้ำควรทำอย่างไร ?)

-ผ้าขนหนูนั้นจะวางไว้บนศีรษะขณะที่แช่น้ำก็ได้ กรณีที่ถ้าผ้าขนหนูหล่นลงไปในน้ำ ให้รีบเอาออกให้เร็วที่สุด และถ้าใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นวางบนศีรษะจะช่วยป้องกันอาการวิงเวียนหรือวูบได้ หากชุบน้ำ ให้บิดผ้าที่ด้านนอกบ่อน้ำร้อน

Q9 ถ้าจะผายลมควรทำอย่างไรดี ? ไปห้องน้ำกลางคันได้ไหม ?

-ไม่จำเป็นต้องกลั้นผายลม แต่ควรระวังไม่ให้มีอุจจาระหลุดติดออกมาด้วย เด็กทารกเมื่อร่างกายอบอุ่นจะถ่ายง่ายจึงควรเฝ้าดูแลเป็นพิเศษ ส่วนจะไปเข้าห้องน้ำกลางคันก็ไม่เป็นไรแต่เมื่อกลับมาแล้วก็อย่าลืมล้างร่างกายและส่วนลับให้สะอาดก่อนลงแช่น้ำอีกครั้ง

Q10 ดูเหมือนว่ามีออนเซ็นที่มีการใช้รังสี (เรดอน) ด้วย จะปลอดภัยหรือไม่ ?

-เป็นที่รู้กันว่ารังสีที่ใช้ในออนเซ็นนั้นอ่อนมากจึงไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ที่เด่น ๆ ก็มีออนเซ็นมิซาสะของจังหวัดทตโตริ, มุระสึกิออนเซ็นของจังหวัดนีงาตะ, ยุโนะยามะออนเซ็นของจังหวัดมิเอะ เป็นต้น รังสีจะถูกดูดซึมทางปอดในขณะที่หายใจ ดังนั้นจะดีมากถ้าหายใจลึก ๆ ในขณะที่แช่น้ำ

Q11 มีแต่ออนเซ็นที่มีกำมะถันเป็นแร่ธาตุหลักเท่านั้นหรือ ?

-ไม่เป็นเช่นนั้น ออนเซ็นบำบัดมีอยู่ 10 ประเภท โดยที่มีมากที่สุดคือออนเซ็นที่มีคลอไรด์และออนเซ็นธรรมดา

Q12 ค่อนข้างอายที่จะต้องเปลือยเวลาเข้าออนเซ็น... โดยปกติแล้วมีช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคนไหม ?

-เทียบแล้วเวลาที่ไม่ค่อยมีคนก็จะเป็นช่วงเช้าตรู่กับช่วงกลางคืนที่ดึกมาก ๆ แต่พื้นอาจจะลื่นได้ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละน้ำออนเซ็นดังนั้นจึงควรระวังด้วย เรียวกังหรือโรงแรมบางที่มีบ่อรวมชายหญิง บางที่ก็จะมีชุดสำหรับใส่คลุมตอนลงออนเซ็นให้ยืมด้วย นอกจากนี้ยังมีบ่อครอบครัวที่สามารถเข้าได้เฉพาะกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อนที่มาด้วยกัน และยังมีออนเซ็นแบบเช่าเหมาด้วย หากอายมากจริง ๆ ก็สามารถลองไปเพลิดเพลินกับบ่อแบบส่วนตัวเหล่านี้แทนได้

Q13 ออนเซ็นที่แพงที่สุดในญี่ปุ่นคือที่ไหน ?

-ไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่ที่เมียวเค็งออนเซ็น "เท็งคูโนะโมริ" ในจังหวัดคาโงชิมะนั้นมีวิลล่าหลายหลังอยู่ทั่วทั้งภูเขา ราคา 2 คนต่อ 1 คืนอยู่ที่ราว 3 แสนถึง 5 แสนเยน ถ้าเช่าเหมาทั้งภูเขาจะอยู่ที่ 5 ล้านเยน นอกจากนี้ก็ยังมีห้องวินด์เซอร์สวีทของโรงแรมโทยะโกะวินด์เซอร์ ที่ราคา 2 คน 1 ห้องอยู่ที่ 8 แสนเยน (พร้อมอาหารเช้า) แต่คิดว่าพวกโรงแรมหรูในประเทศและรีสอร์ทต่างประเทศที่แพงกว่านี้ก็น่าจะมีอีกเยอะ (หัวเราะ)

Q14 ที่ออนเซ็นห้ามขัดขี้ไคลหรือ ?

-การขัดผิวหรือขี้ไคลในบ่อแช่น้ำนั้นโดยมารยาทแล้วไม่สมควรอย่างยิ่ง และออนเซ็นเล็ก ๆ ที่เป็นแบบเติมน้ำตลอดด้วยน้ำจากแหล่งกำเนิดบางที่ก็ห้ามใช้แชมพูหรือสบู่ด้วย ในสถานที่เหล่านั้นแน่นอนว่าการขัดถูขี้ไคลย่อมทำไม่ได้แน่นอน ถ้าหากต้องการขัดจริง ๆ ควรลองสอบถามกับทางสถานที่ดูก่อน บางที่ก็มีออนเซ็นที่มีบริการขัดขี้ไคลในห้องเดี่ยวด้วย

Q15 เป็นคนขนเยอะมาก แล้วยังมีรอยสักอีก จะเป็นไรไหม ?

-เรื่องขนตามร่างกายนั้นไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องรอยสักนั้น สถานที่ที่ปฏิเสธการเข้าแช่ออนเซ็นแม้รอยสักจะมีขนาดเล็กเพียงนิดเดียวก็มีไม่น้อย แต่ก็ยังมีสถานที่แช่ออนเซ็นที่อนุญาตให้เข้าแช่ได้หากใช้เทปหรือพลาสเตอร์ปิดแผลปิดรอยสักหรือใส่เสื้อรัชการ์ด อุตส่าห์มาเที่ยวแล้วถ้าลงแช่ออนเซ็นไม่ได้ก็น่าเสียดายแย่ จึงควรสอบถามถึงนโยบายเกี่ยวกับรอยสักกับทางสถานที่ก่อนล่วงหน้า ส่วนอ่างในห้องของเรียวกังและบ่อครอบครัวนั้นลงแช่ได้ไม่มีปัญหา

เป็นอย่างไรกันบ้างกับคำถามเกี่ยวกับออนเซ็นและเซนโต ? สุดท้ายนี้ ได้ขอคำแนะนำจากอาจารย์โกโต สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะลงแช่อย่างไรดี ได้ความว่า "ลองแช่โดยคำนึงจากจุดประสงค์ depends on the purpose ดูไหมครับ ? หากแช่น้ำอุ่น ๆ นาน ๆ ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าแช่น้ำร้อน ๆ แบบเร็ว ๆ ก็จะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า"

ถึงแม้จะมีมารยาทพื้นฐานอยู่แต่วิธีเพลิดเพลินกับการอาบน้ำของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นอาบให้สนุกในแบบของตัวเองได้เลย ที่ญี่ปุ่นมีออนเซ็นและเซนโตเยอะมากจึงอยากให้ลองไปเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมการแช่น้ำร้อนที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างลงตัว

[ผู้ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้]
อาจารย์ยาสุอากิ โกโต (ศาสตราจารย์, นักวิจัยหลักสถาบันพัฒนาสุขภาพญี่ปุ่น)

*This information is from the time of this article's publication.
*Prices and options mentioned are subject to change.
*Unless stated otherwise, all prices include tax.

แชร์บทความนี้

 
บทความใหม่
ค้นหา